ความรักความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นสิ่งละเอียดอ่อนที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะหากคนในครอบครัวมีความสัมพันธ์กันมากพอ ย่อมเป็นเรื่องง่ายที่จะจับมือกันก้าวผ่านปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาชีวิตคู่ ปัญหาการเรียน ปัญหาเรื่องเพื่อน ปัญหาที่ทำงาน เป็นต้น
ซึ่ง ‘วัยเด็ก’ เป็นรากฐานที่สำคัญของการเจริญเติบโตสู่ช่วงวัยต่างๆ ที่พ่อแม่และผู้ปกครองควรปลูกฝังลักษณะนิสัยที่ดี และเป็นแบบอย่างของพฤติกรรมที่เหมาะสม รวมถึงเป็นต้นแบบของการใช้ชีวิตให้ลูก เพื่อเป็นการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ต้นนี้ให้แตกหน่อและเติบโตอย่างงดงาม
แต่เพียงการอบรม สอนสั่ง และปลูกฝังอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ด้วยช่องว่างระหว่างวัยและโลกทัศน์ที่เปลี่ยนไประหว่างวัยพ่อแม่และลูกหลาน ซึ่งต้องการความเข้าใจ การปรับตัว และความประนีประนอมในการดูแลซึ่งกันและกัน ทีมเว็บไซต์ สสส. จึงรวบรวมเคล็ดลับเติมเต็มความสุขของครอบครัวมานำเสนอเป็นตัวอย่างแนวทางให้ครอบครัวไทยนำไปปรับใช้ในยุค 4 จี หรือ ยุค 4.0 เพื่อเป็นการเติมเต็มความรักและความเข้าใจและกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวค่ะ
“4 ย. เคล็ดลับเติมรักให้ครอบครัว” จากคู่มือ 4 ย.เคล็ดลับเติมความสุขชีวิตคู่ โดยสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้แนะนำไว้ว่า
ย.ยืดหยุ่น : รู้จักอดทนอดกลั้น รู้จักให้และรับที่เหมาะสม เรียนรู้ที่จะพบกันครึ่งทาง เพื่อความสัมพันธ์ที่สมดุลและแนบแน่น ดังคำกล่าวที่ว่า ‘บ้านเปี่ยมรัก…สร้างจากความรักและความเข้าใจ’
ย.ยกย่อง : หมั่นใช้คำพูดที่อ่อนหวานไพเราะ ห่วงใย ให้กำลังใจซึ่งออกมาจากใจบนพื้นฐานของสติปัญญาและความรัก เป็นพลังเสริมสร้างแรงบันดาลใจเพื่อการเปลี่ยนแปลงตนเองและโลกได้อย่างไร
ย.ยืนหยัด : ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดๆ อย่าลืมยืนหยัดการมองโลกด้วยจิตใจที่ดีอยู่เสมอๆ เพราะการมองโลกในแง่ดีนั้นจะทำให้มีกำลังใจในการใช้ชีวิตเพิ่มขึ้น รวมถึงในยามที่มีปัญหาอุปสรรคเข้ามาคุณก็จะมองในมุมที่เป็นสัจธรรมได้ด้วยเช่นกัน
ย.แยกแยะ : รู้จักแยะแยะปัญหาแต่ละเรื่องออกจากกัน ไม่นำปัญหาภายนอกมาใส่อารมณ์กับคนในบ้าน การคิดก่อนพูดจะช่วยให้ความยุ่งยากต่างๆ กลายเป็นเรื่องเล็กและสามารถแก้ไขได้ในที่สุด
หลังจากที่ผู้ปกครองรู้จักเคล็ดลับการเติมเต็มความรักให้ครอบครัวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คราวนี้ก็ถึงเวลาของเคล็ดลับสิ่งที่ไม่ควรทำ กับ “8 นิสัยที่พ่อแม่ควรเลิกเสียที” จากหนังสือ ‘ปรับเปลี่ยน 8 นิสัยที่พ่อแม่ควรเลิกซะที’ นิตยสาร SOOK ฉบับที่ 14 ที่บอกไว้ว่า
ไม่มีเวลา : เด็กๆ โดยเฉพาะ วัย 6 ขวบปีแรก ควรมีพ่อแม่คอยสอนทักษะพื้นฐานชีวิตที่สำคัญให้กับเขา
ขี้หงุดหงิด : ควรแยกแยะเรื่องงานและครอบครัวออกจากกัน อย่าให้คนในบ้านมาคอยรับอารมณ์ที่เกิดจากนอกบ้านตลอดเวลา
ตามใจเกินเหตุ : การรักลูกแบบผิดๆ ชนิดที่ตามใจทุกอย่างอาจทำให้ติดเป็นนิสัยของตัวเด็กและกลายเป็นเด็กเอาแต่ใจ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่แก้ได้ยากในอนาคต
ติดสมาร์ทโฟน : พ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดี และหากิจกรรมต่างๆ มาช่วยกระชับสัมพันธ์ในครอบครัว เช่น การเล่านิทาน การปลูกต้นไม้ การพาไปสวนสัตว์ เป็นต้น
จู้จี้ขี้บ่น : ไม่มีใครชอบโดนบ่นตลอดเวลา ดังนั้นพ่อแม่หรือผู้ปกครองควรพูดตรงๆ กับลูกว่าอยากให้ปรับปรุงตัวหรือเลิกพฤติกรรมแบบไหน เพื่อที่คุณจะได้บ่นพวกเขาน้อยลงนั่นเอง
เจ้าบงการ : หยุดบังคับ กำหนดทุกอย่างให้ลูก และเปลี่ยนจากการเลือกให้เขาเป็นการช่วยแนะนำแทน
นอกจากนี้ พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร (หมอโอ๋) จาก เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน ได้แนะนำเทคนิคการเลี้ยงลูกแบบไม่ต่อต้านคำสั่งของผู้ปกครองไว้ในกิจกรรม Workshop สื่อสารยังไงให้ได้ใจลูก ฐาน : พูดอย่างไร…ให้ลูกฟัง เอาไว้ดังนี้
ต่อติดก่อนตักเตือน เช่น ถ้าลูกกำลังเล่นของเล่นอยู่ ให้ถามว่ากำลังเล่นอะไร แล้วค่อยชวนเลิกเล่น เด็กจะรับฟังมากกว่าสั่งไปเลย
บอกความอยาก แทนห้าม อย่า ไม่ เช่น แม่อยากให้หนูลงมากระโดดข้างล่าง หรือแทนที่จะบอกว่าอย่าวิ่ง ให้เปลี่ยนเป็นเดินช้าๆ สิลูก
หมั่นตั้งคำถาม เช่น ให้ถามว่ากลับบ้านวันนี้ต้องทำอะไรบ้างนะ? แทนการสั่งว่ากลับบ้านต้องทำสิ่งนั้นสิ่งนี้
สั้นๆ เข้าไว้ อย่าบ่นยืดเยื้อ ยืดยาว เช่น อยากสั่งให้ลูกถอดรองเท้า ก็พูดแค่ว่า ‘รองเท้าลูก’ แค่นี้ก็เพียงพอ
บอกล่วงหน้า เช่น อีก 5 นาที เราต้องเลิกเล่นแล้วนะลูก เด็กๆ จะได้เตรียมตัว ไม่โวยวาย
ให้ทางเลือก เพราะลูกจะรู้สึกมีอำนาจตัดสินใจ เช่น จะเล่นต่ออีก 1 หรือ 2 นาทีดีคะ?
พูดให้คิด ให้เด็กๆ ได้คิดวิเคราะห์ถึงผลที่ตามมา จากการกระทำของตนเอง เช่น ถ้าเราไม่กินผัก จะเป็นไงนะลูก? ท้องผูกใช่ไหม?
สั่งเป็นเพลง ทำให้คำสั่งดูเป็นความรื่นเริง ลื่นหู
ใช้ท่าทาง เช่น แทนที่สั่งลูกให้หยุดเล่น ipad ให้เดินไปหา ยิ้ม มองไปที่ไอแพด แทนการสั่งเสียงแข็งๆ
เขียนโน๊ตดีกว่า เขียนให้น่ารักๆ เข้าไว้ เด็กๆ จะชอบมากกว่า การสั่งด้วยคำพูดโดยตรง
นับ 1 ถึง 10 แทนที่จะสั่งให้ลูกหยุดทำนู่นทำนี่ทันที ควรให้เวลาลูก โดยการนับ 1 – 10 ถ้าลูกทำตามโดยที่นับไม่ถึงให้ชมลูกด้วยนะคะ
กระซิบสื่อรัก แทนที่จะใช้น้ำเสียงแข็งๆ สั่งลูก ให้กระซิบเบาๆ ใกล้ๆ แทน วิธีนี้จะไม่กระตุ้นสมองด้านอารมณ์ และเด็กๆ จะชอบมาก